สาเหตุที่ริเริ่มตั้งโรงเรียนต่าง ๆ ก็เนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.112)
ประเทศไทยถูกกองเรือฝรั่งเศสรุกราน โดยนำกองเรือแล่นผ่านสันดอนเข้ามาทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ทางราชการเห็นความจำเป็นใน กิจการทหารเรือมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในการฝึกอบรมนายทหารชั้นประทวนให้มีความรู้และเป็นจ่าที่ดี ไปปฏิบัติราชการตามเรือและกรมกองต่างๆฉะนั้นในปี พ.ศ.๒๔๓๘ (ร.ศ.114) จึงได้ตั้งโรงเรียนนายสิบทหารเรือขึ้น โดย คัดเลือกเอานักเรียนจากบุตรทหารเรือที่มีความประพฤติดีเข้าเป็นนักเรียนใน โรงเรียนนี้ และใช้ศาลาการเปรียญของวัดวงษ์มูลเป็นที่เรียนต่อมากระทรวงทหารเรือดำริที่ จะให้จ่าและพลทหารได้มีการศึกษาให้มีความรู้สูงขึ้นตามสมัยจึงยุบ โรงเรียนนายสิบทหารเรือนั้นเสีย แล้วตั้งโรงเรียนจ่าขึ้นแทน คือ
๑. โรงเรียนอาวุธ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๐ (ร.ศ.126) กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๗๙/๑๗๔๖ ให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือจัดวางปืนใหญ่ในเรือรานรุกไพรี สำหรับเป็นโรงเรียนอาวุธปืนใหญ่และเรียกชื่อว่า "โรงเรียนอาวุธ" ขึ้นอยู่กับกรมยุทธศึกษาทหารเรือ โดยมี เรือเอกหลวงศักดา เดชะ เป็นผู้บังคับการ จึงควรนับว่าเป็นผู้บังคับการโรงเรียนจ่าคนแรกที่มีหลักฐานแน่นอน ครั้นวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑(ร.ศ.127) กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๑๙๘/๔๓๘๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอนเรือรานรุกไพรีออกจากประจำการ เนื่องจากมีความชำรุดมาก (ภายหลังจูงไปจมไว้ที่หินกองในอ่าวเกาะสีชัง) ส่วนโรงเรียนอาวุธให้ยกขึ้นมาทำการสอนบนบก โดยจัดให้นักเรียนพักที่โรงเรียนเก่าที่วัดวงษ์มูล เวลาเรียนให้ไปเรียนที่โรงเรียนนายเรือ จนกว่าจะได้สร้างโรงเรียนอาวุธให้เป็นการถาวรขึ้น (ในบริเวณกรมยุทธศึกษาทหารเรือ) ครั้นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๓ (ร.ศ.129) กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๖๒/๑๓๗๔ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนอาวุธเสียใหม่ว่า "โรงเรียนจ่า" โดยเหตุที่ได้เพิ่มวิชาเดินเรือเข้าในวิชาที่มีประจำโรงเรียนอาวุธแล้ว จึงเป็นการเริ่มมีโรงเรียนจ่าที่จะแยกออกเป็นจ่าเหล่าต่าง ๆ ในภายหน้าต่อไป
๒. โรงเรียนจ่าตอร์ปิโด วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๒๖๑/๑๒๗๗๓ กำหนดให้มีการเรียนตอร์ปิโด ที่กรมสรรพาวุธ จึงนับว่าเป็นการเริ่มมีโรงเรียนจ่าตอร์ปิโดแล้ว
๓. โรงเรียนช่างกล กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๕๒๗/๑๙๘๒๕ ให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือ แบ่งนักเรียนที่จะรับใหม่ สำหรับ พ.ศ.๒๔๗๕ นั้นออกเป็นจ่าช่างกล ๑ ใน ๕ ของจำนวนนักเรียนจ่าทั้งหมด จึงเริ่มมีนักเรียนช่างกลขึ้น
๔. โรงเรียนพลทหารเรือกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๕๘ กระทรวงทหารเรือ มีคำสั่งที่ ๒๒๗/๐๕๗๕๘ ตั้งกรรมการตรวจการสร้างที่พักนายทหารและสถานที่ต่าง ๆ ที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ จึงนับได้ว่าการก่อสร้างที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ คราวนี้เป็นการเริ่มจะได้มีโรงเรียนชุมพลทหารเรือในกาลต่อไป และได้ให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองรักษา เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๕๙ กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๒/๐๐๑๖๖ ให้ย้ายกองโรงเรียนจ่าไปตั้งศึกษาที่ป้อมเสือซ่อนเล็บโดยมี ร.ล.บรรจุชะโลธร เป็นพาหนะขนของและในวันที่ ๒๘ เดือนเดียวกันนั้นเอง กระทรวงทหารเรือได้มีคำสั่งที่ ๕๕/๐๑๑๔๗ ให้กรมชุมพลทหารเรือ จัดตั้งกองโรงเรียนพลอาสาทหารเรือกรุงเทพฯ ขึ้น เพื่อรับพลอาสาจากกองต่าง ๆ และได้เปลี่ยนนามจากโรงเรียนพลอาสาทหารเรือกรุงเทพฯ เป็น "โรงเรียนพลทหารเรือกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๕๙
๕. โรงเรียนพลทหารช่าง เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๕๙ กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๑๖๘/๐๔๒๙๖ ให้กรมยุทธโยธาทหารเรือ ตั้งโรงเรียนพลทหารช่างขึ้นในบริเวณกรมยุทธโยธาทหารเรือ และลงคำสั่งที่ ๕๙/๐๐๙๐๓ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๖๐ ให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือรับปกครอง
๖. โรงเรียนพันจ่า กระทรวงทหารเรือ มีคำสั่งที่ ๓๐/๐๐๔๙๒ ลง ๑๑ เมษายน ๒๔๖๐ จัดตั้งโรงเรียนพันจ่าทหารเรือขึ้น เนื่องจาก ขาดแคลนพันจ่าที่จะรับหน้าที่เหนือจ่าขึ้นไป โดยให้อยู่ในปกครองของผู้บังคับการกองโรงเรียนจ่าทหารเรือ ครั้นเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๖๐ กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๔๒/๐๐๖๕๗ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนจ่าและโรงเรียนพันจ่า เป็น "โรงเรียนพันจ่าและจ่า" การบังคับบัญชาคงเป็นไปตามเดิมทุกประการ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๖๑ (ร.ศ.137) กระทรวงทหารเรือได้ออกข้อบังคับทหารว่าด้วยการศึกษาและสถานที่ศึกษาใหม่ โดยรับพลทหารเกณฑ์ใหม่เข้าเรียน และได้จัดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้คือ
๖.๑ กองโรงเรียนพลเรือตามจังหวัดชายทะเล ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของกรมทหารเรือชายทะเล เรียกว่า กองโรงเรียนพล ทหารเรือที่ ๑ (สมุทรสงคราม) ที่ ๒ (สมุทรสาคร) ที่ ๓ (จังหวัดพระประแดง) ที่ ๔ (สมุทรปราการ) ที่ ๕ (บางพระจังหวัดชลบุรี) ที่ ๖ (บ้านเพจังหวัดระยอง) กองโรงเรียนพลทหารเรือทั้ง ๖ แห่งนี้ เป็นสถานที่ศึกษาวิชาการเรือ
๖.๒ โรงเรียนจ่าทหารเรือ เป็นสถานที่ศึกษาวิชาการเรือ ตั้งอยู่บนป้อมเสือซ่อนเล็บ ขึ้นตรงต่อกรมยุทธศึกษาทหารเรือ
๖.๓ กรมสรรพาวุธทหารเรือ เป็นสถานที่ศึกษาวิชาเหล่าปืนใหญ่ เรียกว่า โรงเรียนจ่าปืน ขึ้นตรงต่อกรมสรรพาวุธทหารเรือ
๖.๔ กรมสรรพาวุธทหารเรือ เป็นสถานที่ศึกษาเหล่าตอร์ปิโด และทุ่นระเบิด เรียกว่า โรงเรียนจ่าตอร์ปิโดและทุ่นระเบิดขึ้นตรงต่อกรมสรรพาวุธทหารเรือ
๖.๕ กรมสรรพาวุธทหารเรือ เป็นสถานที่ศึกษาวิชาเหล่าประดาน้ำ เรียกว่า โรงเรียนจ่าประดาน้ำ ขึ้นตรงต่อกรมสรรพาวุธทหารเรือ
๖.๖ กรมยุทธโยธาทหารเรือ เป็นสถานที่ศึกษาวิชากลจักร เรียกว่า โรงเรียนจ่ากลจักร ขึ้นตรงต่อกรมยุทธโยธาทหารเรือ
๖.๗ กรมเสนาธิการทหารเรือแผนกที่ ๖ เป็นสถานที่ศึกษาวิชาเหล่าอาณัติสัญญา ตั้งอยู่ที่สถานีวิทยุโทรเลขทหารเรือ กรุงเทพฯ ตำบลประทุม เรียกว่า โรงเรียนอาณัติสัญญาน ขึ้นตรงต่อกรมเสนาธิการทหารเรือ
ทหารเกณฑ์ซึ่งได้รับการคัดเลือกส่งไปศึกษาวิชาตามโรงเรียนจ่าต่าง ๆ นั้น ต่อไปให้เรียกว่า "นักเรียนจ่า" และนักเรียนจ่าผู้สอบไล่ได้ รับประกาศนียบัตรให้เรียกว่า "จ่าสำรอง" ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๖๓ กระทรวงทหารเรือได้ออก ขทร.บทที่ ๓๗๘ แก้หมวดที่ ๓ ข้อ ๙ ให้โรงเรียนจ่าต่าง ๆ ซึ่งขึ้นตรง ต่อกรมสรรพาวุธทหารเรือ นั้นรวม เรียกชื่อว่า "โรงเรียนจ่าอาวุธ" เพื่อสะดวกแก่การบังคับบัญชาและสถานที่ซึ่งต้องรวมกันอยู่เป็นแห่งเดียวกัน ครั้นเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๔ กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๓๐๙/๐๖๗๔๖ ให้เปลี่ยนระเบียบการปกครองและการบังคับบัญชาในกระทรวงทหารเรือ คือให้
๑. โอนกองโรงเรียนจ่าเรือ จากกรมยุทธศึกษาทหารเรือ
๒. โอนกองโรงเรียนพลทหารเรือกรุงเทพฯ จากกรมชุมพลทหารเรือ ไปขึ้นอยู่ในกรมทหารเรือชายทะเล ตั้งแต่ ๑ ธันวาคม ๒๔๖๔ เป็นต้นไป และเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๖๕ กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งที่ ๓๕๔/๑๒๔๘๔ ให้เปลี่ยนนามกองโรงเรียนพลทหารเรือกรุงเทพฯ เป็น "กองสำรองทัพเรือ" และต่อมาก็ได้ยกเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๒ และที่ ๖ เสีย ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๕
จะเห็นได้ว่ามีการล้มเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือต่าง ๆ เป็นลำดับมา และได้ส่งพลทหารเหล่านั้นให้มาฝึกหัดศึกษาที่กรมชุมพลทหารเรือ โอนโรงเรียนจ่าอาวุธนอกจากนักเรียนจ่าแผนกประดาน้ำไปรวมเป็นโรงเรียนจ่า เรือในสังกัดกรมทหารเรือชายทะเล ตั้งแต่ ๑๔ เมษายน ๒๔๖๖ และเลิกกรมทหารเรือชายทะเล ไปสังกัด กรมชุมพลทหารเรือ การที่ได้มีการโอนและเปลี่ยนแปลงโรงเรียนจ่าเรือ และจ่าอาวุธกันเป็นการใหญ่ก็เพื่อให้กิจการของโรงเรียนจ่าเรือได้เจริญก้าว หน้าต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๖๙ มีคำสั่งที่ ๕๓๙/๒๑๐๘๒ ให้ยุบเลิกกองสำรองทัพเรือ กองโรงเรียนพลทหารเรือ และตั้งกอง โรงเรียนจ่าสำรองขึ้นแทนที่กองโรงเรียนพลทหารประจำเรือสมุทรปราการ เป็นการรวมโรงเรียนต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นโรงเรียนเดียว และเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๗๒ ได้มีคำสั่งที่ ๓๘/๐๑๒๕๘ ให้เปลี่ยนนามจาก "กองโรงเรียนจ่าสำรอง" มาเป็น "กองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ" โดยเห็นว่าตามที่กองโรงเรียนจ่าสำรองมีหน้าที่ทำการอบรมสั่งสอนทหารต่ำกว่า ชั้นสัญญาบัตรไม่เฉพาะแต่นักเรียนจ่าสำรองประเภทเดียวยังทำการอบรมมา สั่งสอนทหารต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรทั่วไปในราชนาวีด้วย จึงเห็นว่าการที่กองนี้มีนามว่ากองโรงเรียนจ่าสำรอง นั้น ยังไม่สมนามตามหน้าที่จึงให้เปลี่ยนนามเสียใหม่ดังกล่าว กองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ จึงถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๗๒ เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๙๕ (ร.ศ.171) กองทัพเรือได้มีคำสั่งที่ ๒๐/๙๕ ให้ย้ายกองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ จากสมุทรปราการมาตั้งที่ โรงเรียนนายเรือเกร็ดแก้ว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และย้ายกองโรงเรียนนายเรือ ไปตั้งที่กองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ สมุทรปราการ เป็นการสับเปลี่ยนสถานที่กัน เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างของทางราชการ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐
กองทัพเรือได้ออกระเบียบว่าด้วยการศึกษาใหม่ และได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๓ ส่วนคือ
ส่วนที่ ๑ คือโรงเรียนที่ขึ้นตรงต่อกองทัพเรือ โดยกรมกำลังพลทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชา ได้แก่ โรงเรียนนายทหารเรือ
ส่วนที่ ๒ คือโรงเรียนที่ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้แก่ โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนชุมพลทหารเรือ โรงเรียนพลทหาร
ส่วนที่ ๓ คือโรงเรียนที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนที่ ๑ และที่ ๒ โรงเรียนเหล่านี้ได้แก่ โรงเรียนอาชีพเฉพาะอย่างของทหาร
นับตั้งแต่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ เริ่มถือกำเนิดตั้งแต่วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๗๒ จนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๔๗) ได้มีการปรับปรุงแก้ไขการศึกษาของนักเรียนจ่าให้เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ เรื่อยมาจนในปัจจุบันนี้โรงเรียนชุมพลทหารเรือ ได้ทำการฝึกหัดศึกษาโดยรับสมัครนักเรียนจากบุคคลภายนอกที่มีความประสงค์จะ สมัครเข้าเป็นนักเรียนจ่าทหารเรือ โดยมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้คือ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และมีอายุตั้งแต่ ๑๖ปี ถึง ๒๐ ปี โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นพรรคเหล่าต่าง ๆ คือ
๑. พรรคนาวิน แบ่งออกเป็น
๑.๑ เหล่าทหารสามัญ เป็นเหล่าที่ปฏิบัติงานในเรือเป็นส่วนใหญ่ บนดาดฟ้า ถือท้ายเรือ ฯลฯ วิชาที่ศึกษามีวิชาเกี่ยวกับเรือ เดินเรือ และงานสารบรรณทั่วไป ใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๑.๒ เหล่าทหารการเงิน เป็นเหล่าที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่
๑.๓ เหล่าปืนใหญ่ เป็นเหล่าที่ปฏิบัติงานในเรือที่เกี่ยวกับการใช้อาวุธการระวังรักษาประจำ เรือ เช่น ปืนใหญ่ ปืนกล ฯลฯ ศึกษาเกี่ยวกับวิชาเดินเรือ และการอาวุธทางเรือ ใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๑.๔ เหล่าสัญญาณวิทยุ เป็นเหล่าที่มีการปฏิบัติงานทั้งทางบกและในเรือ การศึกษาส่วนใหญ่จะหนักไปในทางด้านการรับส่งวิทยุ และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการสื่อสาร ใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๑.๕ เหล่าสัญญาณโซนาร์ เป็นเหล่าที่มีการปฏิบัติงานในเรือ การศึกษาส่วนใหญ่จะหนักไปในทางใช้เครื่องมือเกี่ยวกับการค้นหาเป้าซึ่งอยู่ ใต้น้ำใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๑.๖ เหล่าสัญญาณเรดาร์ เป็นเหล่าที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ในเรือการศึกษาจะหนักไปในทางการใช้เครื่อง มือในการค้นหาเป้าพื้นน้ำ และในอากาศ ใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๑.๗ เหล่าทัศนสัญญาณเป็นเหล่าที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ในเรือการศึกษาจะหนักไปทาง ด้านการรับ-ส่งสัญญาณด้วยธงและโคมไฟตลอดจนการโทรศัพท์ นอกจากนั้นจะต้องศึกษาเกี่ยวกับวิชาพลศึกษาเป็นพิเศษ เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นครูสอนพลศึกษาในโรงเรียนทหาร ได้ ใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๒. พรรคกลิน เป็นพรรคที่ปฏิบัติงานในเรือเป็นส่วนใหญ่ การศึกษาจะหนักในทางการใช้เครื่องขับเคลื่อน และเครื่องจักรกลในเรือ รวมทั้งการซ่อมทำขั้นต้นของเครื่องนั้น ๆ ใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๓. พรรคนาวิกโยธิน เป็นพรรคที่ปฏิบัติงานบนบก การศึกษาจะเน้นหนักเกี่ยวกับการรบสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งจะมีเหล่าต่าง ๆ เช่น เหล่าทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารขนส่ง การแยกเหล่านี้จะทำการแยกเมื่อได้ศึกษาในชั้นปีที่ ๒ ใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๔. พรรคพิเศษ เป็นพรรคที่ปฏิบัติงานบนบกเป็นส่วนใหญ่ การศึกษาจะเน้นหนักตามเหล่าของตนคือ
๔.๑ เหล่าทหารการแพทย์ ศึกษาเกี่ยวกับวิชาการพยาบาล ใช้เวลาศึกษา ๓ ปี มากกว่านักเรียนจ่าทุกพรรค-เหล่า
๔.๒ เหล่าทหารพลาธิการ ศึกษาเกี่ยวกับการพลาธิการ การพัสดุใช้เวลาศึกษา ๒ ปี
๔.๓ เหล่าทหารช่างยุทธโยธา ซึ่งมี ๒ สาขา คือ สาขาไฟฟ้า และสาขาอิเล็กทรอนิกส์ หลักสูตร ๒ ปี ทั้ง ๒ สาขา สาขาไฟฟ้า ศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขซ่อมแซมเครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับไฟฟ้าสื่อสาร สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไข ซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับอีเล็กทรอนิกส์
ในการศึกษาชั้นปีที่ ๑ จะส่งตัวนักเรียนจ่าทุกพรรคเหล่าไปฝึกภาคสาธารณะที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ เกล็ดแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีระยะเวลา ๑ เดือน เพื่อให้นักเรียนรู้จักขนบธรรมเนียมทหารเรือ ปรับสภาพจากนักเรียนสามัญ ให้มีลักษณะท่าทางเป็นทหาร เมื่อครบ ๑ เดือนแล้ว จะส่งนักเรียนพรรค-เหล่าทหารแพทย์ ส่งตัวไปศึกษาที่โรงเรียนจ่าพยาบาล ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า บุคคโล กรุงเทพมหานคร ส่วนเหล่าทหารพลาธิการ เหล่าทหารช่างยุทธโยธา เหล่าทหารสัญญาณ และพรรคนาวิกโยธิน จะส่งไปตามโรงเรียน ตามพรรคเหล่าเมื่อขึ้นชั้นปีที่ ๒ ส่วนนักเรียนที่เหลือยังคงศึกษาต่อที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือจนจบการศึกษา